ดาราศาสตร์

ความเป็นมาของ ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ

   ดาราศาสตร์ เป็นวิชาหนึ่งที่มีการเรียนการสอนในระบบโรงเรียนของนานาประเทศมานานแล้ว และเริ่มมีการแข่งขันคาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (International Astronomy Olympiad: IAO ) ทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย เป็นครั้งแรกในปีพ.ศ 2539 (ค.ศ 1996) ณ North Caucasus ประเทศรัสเซีย มีประเทศเข้าร่วม 4 ประเทศ สังเกตการณ์ 1 ประเทศ

   สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ได้ทรงทราบว่า ประเทศไทยไม่ได้ส่งนักเรียนไปแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ เพราะขณะนั้น ประเทศไทยยังไม่มีการจัดการเรียนการสอนดาราศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาเลย จึงมีพระดำริให้มูลนิธิฯไปหาทางดำเนินการพัฒนาเด็กไทยให้มีความรู้ความสามารถด้านดาราศาสตร์เหมือนประเทศอื่นๆ และได้ทรงรับสั่งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 9)ทรงสนพระทัยดาราศาสตร์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง และทรงทำให้สมเด็จพระราชชนนีสนพระทัยดาราศาสตร์ไปด้วย เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(รัชชกาลที่9)ได้ทรงทราบว่า มูลนิธิกำลังดำเนินการสนอง พระราชดำริขององค์ประธานมูลนิธิ จึงได้ทรงมีพระราชดำรัสผ่านมาถึงมูลนิธิว่า อย่าสอนให้ดูแต่ดาวเป็นอย่างเดียว ควรจะต้องสอนเนื้อหาที่ต้องมีการคำนวณตัวเลขมากๆด้วย (ซึ่งก็คือ ฟิสิกส์ดาราศาสตร์)

   ในปีพ.ศ 2546 (ค.ศ 2003)  มูลนิธิฯได้ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (รองศาสตราจารย์ บุญรักษา สุนทรธรรม เป็นคณบดี ในขณะนั้น) ดำเนิน “โครงการนำร่อง ฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิก”ขึ้น ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 20 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2546(ค.ศ 2003) และได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากศูนย์ สอวน.วิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ขอนแก่น วลัยลักษณ์ และ สมาคมดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ แล หลังจากนั้นได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ สอวน. ดาราศาสตร์ขึ้น 4 ศูนย์ใน 4 ภาค ทั่วประเทศ

  • ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ดูแลพื้นที่ภาคเหนือ
  • ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัย ขอนแก่น ดูแลพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัย วลัยลักษณ์ ดูแลพื้นที่ภาคใต้
  • ศูนย์ สอวน. สมาคมดาราศาสตร์ไทยฯ ดูแลพื้นที่ภาคกลาง ตะวันออก ตะวันตกและกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

   จุดประสงค์ในการตั้งศูนย์ สอวน. ก็เพื่อจะรับสมัครนักเรียนให้ครอบคลุมทั่วประเทศ สอบคัดเลือกนักเรียนที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และสนใจในวิชาดาราศาสตร์ นำมาฝึกฝนอบรม และคัดเลือกผู้แทนนักเรียนไทยระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 2 คน ไปแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ  (International Astronomy Olympiad : IAO )  ในปี พ.ศ  2547  (ค.ศ 2004 ) ณ เมืองซีเมซ แคว้นไครเมีย ประเทศยูเครน ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ได้เหรียญเงิน 1 คน ปีต่อมา ได้ส่งไปแข่งขันทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ( 3 คน ) และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ( 2 คน ) รวมทั้งยังส่งเข้าแข่งขันดาราศาสตร์ภาคพื้นเอเซียระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ( 3 คน ) อีกดัวย แต่ตั้งแต่ พ.ศ 2550 (ค.ศ 2007) เป็นต้นมาประเทศไทยส่งเฉพาะนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ( 3 คน )เท่านั้นไปแข่ง IAO จนถึงปัจจุบัน เพราะระดับมัธยมศึกษาตอนปลายส่งไปแข่ง IOAA (International Olympiad on Astronomy and Astrophysics)

กำเนิดการแข่งขันดาราศาสตร์ และ ฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ : International Olympiad on Astronomy and Astrophysics (IOAA)

   เนื่องจากมูลนิธิฯตั้งใจจะเป็นเจ้าภาพ จัดการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (IAO) ในปี 2550 เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนารถบพิตรทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา และองค์ประธานมูลนิธิ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 84 พรรษา แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ มูลนิธิฯจึงได้ปรึกษาศูนย์สอวน วิชาดาราศาสตร์ เพื่อขอความร่วมมือในการดำเนินการจัดการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศระดับมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้นมาอีกโปรแกรมหนึ่ง และใช้ชื่อการแข่งขันใหม่นี้ว่า ดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ International Olympiad on Astronomy and Astrophysics (IOAA) เป็นครั้งแรกที่ริเริ่มขึ้นในประเทศไทย คณะทำงานของประเทศไทย ได้รับความร่วมมือและความช่วยเหลืออย่างดียิ่ง ในการจัดทำหลักสูตรและกฏระเบียบ ข้อบังคับที่ใช้ในการแข่งขันจาก หัวหน้าทีมวิชาฟิสิกส์ และหัวหน้าทีมวิชาดาราศาสตร์ จากประเทศต่างๆ ได้แก่ Dr.Chatief Kunjaya(Indonesia) Dr.Taufiq Hidayat (Indonesia) Dr.Waldemar Gorzkowski(Poland) Dr.Pawe lJaniszewski(Poland) Dr. Jason Pun Chun Shing (China, Hong Kong) Prof.Shahin Jafarzadeh (Iran) และเพื่อความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน IOAA ในปีพ.ศ 2550 (ค.ศ 2007) มูลนิธิฯจึงได้ดำเนินการทดลองจัดการแข่งขัน IOAA ขึ้นล่วงหน้าในปีพ.ศ 2549 (ค.ศ 2006 ) ณ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมูลนิธิก็ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 9 ธันวาคม พ.ศ 2550 (ค.ศ 2007) ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชชกาลที่ 9) ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครืนทร์ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 84 พรรษา โดยมีเจ้าภาพร่วม คือ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กระทรวงศึกษาธิการ สมาคมดาราศาสตร์ไทยฯ และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ มีประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน 22 ประเทศ ประเทศละ 5 คน ประเทศไทยได้ 3 เหรียญทอง และ 2 เหรียญเงิน การแข่งขันครั้งนี้เป็นประวัติศาสตร์ของโอลิมปิกวิชาการสากล ซึ่งริเริ่มจากประเทศไทย แสดงถึงศักยภาพของนักดาราศาสตร์และนักฟิสิกส์ไทยว่าเป็นที่ยอมรับในระดับสากล  ต่อมาในปีพ.ศ 2560 (ค.ศ 2017)  ประเทศไทยได้กลับมาเป็นเจ้าภาพอีกครั้งหนึ่ง ในการแข่งขัน IOAA ครั้งที่ 11 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดภูเก็ต เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา มีประเทศเข้าร่วมแข่งชัน44 ประเทศ ประเทศไทยได้ 2 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง

ปัจจุบันศูนย์ สอวน. วิชาดาราศาสตร์ มี 13 ศูนย์ 

  1. ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  2. ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยนเรศวร
  3. ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  4. ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  5. ศูนย์ สวอน. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  6. ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  7. ศูนย์ สอวน. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี
  8. ศูนย์ สอวน. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  9. ศูนย์ สอวน. โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย
  10. ศูนย์ สอวน. โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
  11. ศูนย์ สอวน. โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
  12. ศูนย์ สอวน. โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์
  13. ศูนย์ สอวน. โรงเรียนวัดนวลนรดิศ 

การรับสมัคร  :  เปิดรับสมัครช่วงเดือนมิถุนายน ถึง กรกฎาคมของทุกปี

การสอบคัดเลือก :  เดือนสิงหาคมของทุกปี

ประกาศผล  :  ประมาณเดือนกันยายนของทุกปี

ค่าย 1  :

นักเรียนที่ผ่านการสอบคัดเลือกจะเข้าอบรมช่วงเดือนตุลาคม

ค่าย 2  :

นักเรียนที่ผ่านสอบค่าย 1 จะเข้าอบรมค่าย 2 ช่วงเดือนมีนาคม

การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับชาติ

การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับชาติ เป็นการแข่งขันระหว่างนักเรียนของทุกศูนย์ สอวน. วิชาดาราศาสตร์ ทั่วประเทศ 

และจะคัดเลือกนักเรียนผู้ประเทศไทย ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 5 คน และ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 5 คน เพื่อไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ ต่อไป

สิทธิพิเศษเข้าศึกษาตรง

มหาวิทยาลัยให้สิทธิพิเศษแก่นักเรียนของศูนย์สอวน. ในการให้เข้าศึกษาตรงในระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัย โดยมูลนิธิฯ จะนำรายละเอียดต่างๆ ขึ้นเว็บไซต์ของสอวน. หรือ มหาวิทยาลัยที่ให้สิทธิพิเศษ