สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นองค์ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ สอวน. และเป็นประธานมูลนิธิ สอวน. พระองค์แรก ทรงเป็นพระธิดาพระองค์แรกในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2466 เวลา 23.07 น. ณ สถานพยาบาล เลขที่ 48 Lexham gardens กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พระนามในสูติบัตร เมื่อแรกเกิดคือ May (เมย์) ตามเดือนที่ประสูติ ทรงมีพระอนุชาเป็นพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อแรกประสูติ ทรงดำรงพระยศหม่อมเจ้า ตามธรรมเนียมราชตระกูล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา” ต่อมาเมื่อพุทธศักราช 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น “พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา” และในวันที่ 10 มกราคม พุทธศักราช 2474 สมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงสถาปนาพระอิสริยศ พระเชษฐภคินีเป็น “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา” เมื่อทรงเจริญพระชนมายุ 6 รอบ ในวันที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยศักดิ์เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายในตามธรรมเนียมราชประเพณีเป็นพระองค์แรกในรัชกาลทรงพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” และเป็นพระปิตุจฉาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงสำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาเคมี จากมหาวิทยาลัยโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อพุทธศักราช 2491 เสด็จนิวัติประเทศไทยเมื่อพุทธศักราช 2493 ทรงรับงานเป็นอาจารย์พิเศษสอนภาษาฝรั่งเศสที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึงพุทธศักราช 2501 ต่อมาพุทธศักราช 2512 ทรงเป็นอาจารย์ประจำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทรงเป็นหัวหน้าสาขาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส และผู้อำนวยการภาษาฝรั่งเศส จนถึงพุทธศักราช 2519 ทรงมีพระภารกิจด้านอื่นๆ มากขึ้น จึงทรงขอลาออกจากตำแหน่งอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ก็คงยังเสด็จเป็นองค์บรรยายพิเศษต่อไปอีก นอกจากนั้นยังทรงรับเป็นอาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยอื่นด้วย ในเดือนมกราคม พุทธศักราช 2521 จึงทรงได้รับการโปรดเกล้าฯ พระราชทานตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ด้านครอบครัว สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเสกสมรสกับพันเอกอร่าม รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ มีพระธิดา คือ ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม (สมรสกับนายสินธู ศรสงคราม) และมีพระนัดดา คือ ร้อยเอกจิทัศ ศรสงคราม
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงสนพระทัยและทรงสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพทางปัญญาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของนักเรียนในระดับโรงเรียนด้วยทรงเห็นว่าการศึกษาในระดับโรงเรียนเป็นพื้นฐานของการศึกษาในระดับอุดมศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงเป็นพระอุปถัมภิกาโครงการจัดส่งนักเรียนไปแข่งขันวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ประเทศไทยเริ่มส่งนักเรียนไปแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 30 ณ ประเทศสาธารณรัฐเยอรมัน (เยอรมันตะวันตก) เป็นครั้งแรกเมื่อปีพุทธศักราช 2532 แต่การดำเนินการการคัดเลือกนักเรียน และส่งไปแข่งขันครั้งนี้ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และเป็นการแข่งขันครั้งแรก สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานได้ขอความสนับสนุนจากภาคเอกชน เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงทราบจึงประทานเงินส่วนพระองค์ และรับเป็นองค์อุปถัมภ์โครงการนี้ ด้วยทรงเล็งเห็นว่าการแข่งขันระดับนานาชาติจะช่วยพัฒนา และส่งเสริมศักยภาพของนักเรียนให้มีความสามารถทัดเทียมนานาประเทศได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศไทยในระยะยาว สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงประทานทั้งเงินและกำลังใจ ทรงห่วงใยและซักถามผลของการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด และ ในปีพุทธศักราช 2541 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงประทานเงินส่วนพระองค์ให้กับศาตราจารย์ศักดา ศิริพันธุ์ (นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯในขณะนั้น) เพื่อดำเนินการจัดตั้ง “มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.)” และทรงรับเป็นองค์ประธานมูลนิธิฯ ด้วย มูลนิธิ สอวน. มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนากาศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ของนักเรียนทั้งประเทศให้ได้มาตรฐานสากล และประเทศไทยจะได้นักเรียนที่มีความรู้ระดับมาตรฐานสากลมาเข้าร่วมแข่งขันคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันทางวิชาการกับนานาชาติมากขึ้น ซึ่งเป็นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลแบบยั่งยืน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2550 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีพระอาการผิดปกติเกี่ยวกับพระนาภี และได้เข้าประทับรักษาพระอาการประชวร ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาพระอาการอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ แต่พระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 2 มกราคม พุทธศักราช 2551 พระอาการทรุดหนัก และสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 02.54 น. สิริรวมพระชนมายุ 84 พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงสืบสานพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยทรงรับเป็นประธานมูลนิธิฯ ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม พุทธศักราช 2551