สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ ๓ ในพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๘ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์
ด้วยเหตุที่ทรงบำเพ็ญพระราชกิจจานุกิจนานัปการอันเป็นประโยชน์แก่แผ่นดินและราษฎร พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๒๐
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกในวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เป็นพระโสทรกนิษฐภคินีที่ได้ทรงร่วมสุขร่วมทุกข์มาแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อทรงเจริญพระชนมายุ ก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจสนองพระเดชพระคุณด้วยพระวิริยะอุตสาหะ เป็นคุณูปการแก่ประเทศชาติและอาณาประชาราษฎร์ ครั้นในรัชกาลปัจจุบัน ก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์และช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจน้อยใหญ่ให้ดำเนินลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมควรจะยกย่องพระเกียรติยศตามฐานะแห่งพระบรมราชวงศ์ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเริ่มต้นการศึกษาในระดับประถมศึกษาจนทรงสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนจิตรลดา ในเขตพระราชฐานพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จากนั้น ทรงสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ ๑ เหรียญทอง สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ต่อมา ทรงศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากรและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก และปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาบาลี-สันสกฤตตามลำดับ ด้วยความสนพระทัยในการศึกษาและการพัฒนา ทรงศึกษาต่อในระดับดุษฎีบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์
ในด้านการทรงรับราชการ ทรงเข้าปฏิบัติหน้าที่อาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์และสังคมวิทยาที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๒๓ ทรงดำรงพระยศพลเอก ตำแหน่งผู้อำนวยการกองวิชาประวัติศาสตร์ และทรงเกษียณอายุราชการในพุทธศักราช ๒๕๕๘
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นผู้ใฝ่พระราชหฤทัยในการศึกษาอย่างยิ่ง ทรงศึกษาอยู่ตลอดเวลา นอกจากวิชาการด้านอักษรศาสตร์ดังกล่าวแล้ว ยังทรงเลือกศึกษาวิชาการด้านอื่นๆ อีกหลายด้านที่ทรงเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ เช่น ภูมิศาสตร์กายภาพ สังคมและเศรษฐกิจ พฤกษศาสตร์ การจัดการทรัพยากรดินและน้ำ รีโมตเซนซิ่ง แผนที่ โภชนาการ เป็นต้น และทรงนำความรู้จากวิชาการเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชุมชนและความเป็นอยู่ของราษฎร
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยศึกษาและฝึกฝนเรียนรู้ทักษะภาษาและวิชาการต่างๆ อยู่มิได้ขาด เช่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาจีน เทคโนโลยีสารสนเทศ ดาราศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น พระปรีชาสามารถด้านภาษาเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วหน้า นอกจากนี้ ยังทรงสนพระทัยเข้าร่วมการประชุม แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ทรงศึกษาดูงาน และทรงพบปะสนทนากับปราชญ์ด้านต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ เพื่อทรงรับความรู้ใหม่ๆ และทันสมัยอยู่เสมอ
ในวันที่ 6 กรกฎาคม พุทธศักราช 2551 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงสืบสานพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งเป็นพระปิตุจฉา ทรงรับเป็นประธานมูลนิธิฯ ทรงสนับสนุน และทรงติดตามผลการดำเนินงาน ของมูลนิธิ สอวน. ทรงริเริ่มให้มีโครงการขยายผลโอลิมปิกวิชาการสู่โรงเรียน โดยส่งเสริมให้มีการพัฒนาครูผู้สอนสามารถมาอบรมนักเรียนค่าย 1 ได้ใน 5 สาขาวิชาประกอบด้วย คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เคมี ชีววิทยา และฟิสิกส์ และทรงมีความสนพระทัยในวิชาภูมิศาสตร์ จึงมีพระดำริให้มีการอบรม และคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ เป็นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2558